แสงกับอาการเมื่อล้าของดวงตา

Last updated: 26 Feb 2019  |  5045 Views  | 

แสงกับอาการเมื่อยล้าของตาเมื่อทำงานกับคอมพิวเตอร์
    ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ทำงาน โรงเรียน และบ้าน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ในการใช้คอมพิวเตอร์ จะคำนึงถึงขนาดของโต๊ะ เก้าอี้ และการจัดวาง คอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขนาดและการจัดวางที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่ส่งผลทำให้เกิดอาการปวด ตึง และการลดลงของประสิทธิภาพของการทำงาน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญอีก และต้องจัดให้เหมาะสม แต่หลายๆ คนมักลืมและไม่ได้คำนึงถึง นั่นคือ การจัดสภาพแสงของจอคอมพิวเตอร์ และแสงจากรอบๆ ตัว ให้เหมาะสมด้วย เนื่องจากผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องใช้ตาในการมองจอ หรือเอกสารที่ต้องพิมพ์ตลอดเวลา ดังนั้น แสงที่มืดหรือจ้าเกินไป หรือมีแสงรบกวนสายตาขณะที่ทำงาน อาจทำให้ตาต้องทำงานหนักซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการเมื่อยล้าของตาได้

 

อาการเมื่อยล้าของตา
> ปวด ล้า ระคายเคือง แดง  แสบ และตาแห้ง
> ปวดศีรษะ
> ต้องเพ่งดูเอกสารและจอด้วยความยากลำบาก
> ภาพซ้อน เบลอ
> สู้แสงจ้าไม่ได้

วิธีการจัดการและแก้ไข

> ใช้ต้นกำเนิดแสงที่มีคุณภาพแสงที่ดี เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซน หลอดตะเกียบประหยัดพลังงาน
> แสงจากภายนอกที่จ้าเกินไป อาจลดได้โดยใช้ม่าน มู่ลี่บังแสงนั้น ขณะเดียวกันกำแพงห้องควรใช้สีแบบด้านทา ไม่ควรเป็นสีน้ำมัน หรือวัสดุที่สะท้อนแสงได้
> ปรับจอภาพไม่ให้รับแสงสะท้อนจากหลอดไฟหรือ แสงจากภายนอก ขณะเดียวกันอาจใช้แผ่นกั้น ไม่ให้แสงส่องมากระทบที่จอ หรือใช้แผ่นกั้นแสงแบบขุ่นเพื่อให้แสงจากหลอดไฟจ้าลดลง หากไม่สามารถจัดการกับแสงจ้าภายนอกได้ อาจใช้วิธีการเพิ่มแสงภายในให้มากขึ้น อย่าให้ห้องที่ทำงานมืดเกินไป เพราะจะรู้สึกผลของแสงภายนอกจ้ารบกวนตามากกว่าปกติ
> ปรับระดับความเข้มของแสงและความแตกต่างระหว่างตัวหนังสือในจอกับพื้นที่ของจอ (contrast) ให้เหมาะสมตามความรู้สึกที่สบายของตนเอง อย่างไรก็ตาม แนะนำให้พื้นที่จอควรเป็นสีอ่อน
> ขนาดตัวหนังสือและไอคอน (icon) ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ไม่ควรมีขนาดเล็ก เพราะทำให้ต้องเพ่งและใช้สายตามากเกินไป
> แผ่นกรองแสงที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดแสงสะท้อนได้ อย่างไรก็ตาม การควบคุมที่ต้นกำเนิดแสงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
> เมื่อต้องมีการอ่านเอกสาร จะทำให้ความต้องการ ปริมาณแสงมากขึ้นกว่าการอ่านจากจอคอมพิวเตอร์ ควรใช้โคมไฟชนิดที่ให้แสงอ่อนนุ่มช่วยก็ได้ ขณะเดียวกันเพื่อลดปริมาณแสงที่เกิดจากความต้องการในการอ่านเอกสารได้
> ควรจำกัดระยะเวลาการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ และควรพักบ่อยๆ เช่น ทำงาน ๑ ชั่วโมง ต้องพักด้วยการละสายตาไปมองอย่างอื่นที่เย็นตา ที่มีระยะห่างออกไป เช่นต้นไม้ภายนอกบ้าง หรือดีที่สุดคือ ลุกจากที่นั่งไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
> อาจกะพริบตาให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนึกได้ หรือเมื่อรู้สึกระคายเคือง แสบตา เพราะจะทำให้น้ำตามาอาบลูกตามากขึ้น
> หมั่นสังเกตคุณภาพของแสงจากหลอดไฟ เพราะหลอดไฟมีอายุการใช้งาน เมื่อเวลาผ่านไปแสงจะลดลง ฝาครอบมีแมลงไปเกาะตายหรือมีฝุ่นเกาะ ทำให้ปริมาณแสงที่ส่องลงมาลดลง
> ควรทำความสะอาดหน้าจอ ไม่ให้มีฝุ่นและคราบรอยนิ้วมือ เพราะทำให้มีผลต่อการอ่านและแยกแยะตัวหนังสือ
> ตรวจสอบความสูงและการจัดวางจอคอมพิวเตอร์ ว่าเหมาะสมกับผู้ใช้ไหม เช่น จอคอมพิวเตอร์ที่สูงหรือต่ำเกินไป มีผลต่อลักษณะ

ท่าทางของคอและศีรษะ ทำให้ศีรษะอยู่ในท่าก้มหรือเงยเกินไป กล้ามเนื้อคอและบ่าทำงานหนัก และมุมมองของสายตาแคบลงส่งผลให้การขยับมองไปในทิศทางอื่นได้ยาก ซึ่งปกติแล้วการจัดวางที่ดีต้องทำให้ผู้ใช้สามารถขยับตัวเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถหรือทำสิ่งต่างๆ ได้

ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสายตาควรพบแพทย์
และตัดแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์แก้ไขให้ถูกต้อง
  เมื่อท่านสามารถทำได้ตามที่กล่าวมา ท่านจะห่างไกลจากการเมื่อยล้าตา และอาจทำให้ท่านทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีความสนุกกับการทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากท่านยังมีอาการดังกล่าวอยู่ ขออย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่อไป :)

ขอบคุณข้อมูล : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy